การเปลี่ยนแปลงระบบในยุคเศรษฐกิจและสังคม 4.0 เป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและสมรรถนะระดับสูง สำหรับประเทศไทยมีการกล่าวถึง Model Thailand 4.0 ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมการคิด การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ การผลักดันธุรกิจการผลิตไปสู่ภาคบริการ การจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตจำเป็นต้องกำหนดทักษะที่จำเป็นของบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงการจัดการการเรียนรู้จำให้ตอบสนองกับทิศทางการผลิตและพัฒนาคน คิดค้นและนำนวัตกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนามาใช้ มุ่งที่กระบวนออกแบบเพื่อผลลัพธ์มากกว่าผลสัมฤทธิ์ (Result more than achievement) สร้างผลผลิตที่มีมูลค่า (Add Productive/Value) มากกว่าการผลิต ส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนรู้ที่ท้าทาย กล่าวคือพัฒนาทั้งทักษะการคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยีร่วมกับการพัฒนาทักษะชีวิตและสังคม ซึ่งเป็นสมรรถนะสำคัญของคนในศตวรรษที่ 21
นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรู้ ทักษะประสบการณ์ และ ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจจะมีลักกษณะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ หรือกระบวนการใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและ สังคม (สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์และคณะ ,2553)
Peter Drucker (1985) นิยามไว้ใน Innovation and Entrepreneurship โดยให้คำนิยามไว้ว่า เครื่องมือเฉพาะด้านของผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการผลิกผันโอกาสไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแต่ละธุรกิจ ซึ่งสามารถจะที่จะนำเสนอต่อผู้ให้สามารถเรียนรู้ และฝึกฝนได้
Michael Porter (1990) นิยามไว้ใน The Competitive Advantage of Nations โดยให้คำนิยามไว้ว่า องค์กรที่จะสามารถรักษาศักยภาพในการแข่งขัน (Competitive Advantage) โดยอาศัยผลของนวัตกรรม โดยองค์กรนั้นจะต้องเข้าใจในนวัตกรรมในภาพกว้าง ซึ่งรวมถึงการเป็นเทคโนโลยีใหม่และวิธีการสร้างสรรค์ผลงานด้วยวิธีใหม่ ๆ
การสร้างนวัตกรรมเป็นการการสร้างสิ่งที่แปลกใหม่ไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิม ซึ่งความแปลกใหม่สะท้อนได้จากแนวคิด รูปแบบ เทคนิค วิธีการจนเกิดเป็นวัตถุที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาสารสนเทศที่ได้รับการออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ที่เป็นนวัตกรรมทางวัตถุสามารถมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและการดำเนินชีวิตของประชาชนจนพัฒนาเป็นนวัตกรรมทางสังคมต่อไปได้เช่นกัน
Design Thinking (การคิดเชิงออกแบบ) คือ กระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ให้ตรงจุด ตลอดจน พัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อที่จะหาวิถีทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดการแก้ปัญหาบนพื้นฐานกระบวนการนี้ จะเน้นผู้ใช้งาน (User-centered) เป็นหลัก โดยมีเจตนาในการสร้างผลลัพธ์ในอนาคตที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ตอบโจทย์ ตลอดจนแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
Design Thinkingเป็นกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่ผสมผสานการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) และการคิดเชิงธุรกิจ (Business thinking) เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นระบบ โดยมีหลักสำคัญ คือ การเข้าใจความต้องการและปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย (Human-Centered) การระดมความคิดเพื่อค้นหาทางแก้ไข และการเรียนรู้และลงมือทำเพื่อสร้างคุณค่าและนวัตกรรม ตั้งแต่นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation), การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Product Innovation) และนวัตกรรมการบริการ (Service Innovation) ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า ผู้ใช้ แล้วต้องการพัฒนากระบวนการ ผลิตภัณฑ์หรือบริการแก้ปัญหา และสร้างคุณค่าที่ตอบโจทย์ (ศศิมา สุขสว่าง)
ประโยชน์ของระบบการคิดเชิงออกแบบ
การคิดเชิงออกแบบมีประโยชน์มากมายทั้งต่อบุคลากรไปจนถึงระดับองค์กรซึ่งประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
- ฝึกกระบวนการแก้ไขปัญหา ตลอดจนหาทางออกที่เป็นลำดับขั้นตอนกระบวนการนี้จะทำให้เรามองปัญหาอย่างรอบคอบ ละเอียดมากขึ้น วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาเพื่อนำมากำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา ทำให้เราเข้าใจปัญหาได้อย่างถ่องแท้และแก้ไขได้ตรงจุด
- มีทางเลือกที่หลากหลายการคิดบนพื้นฐานข้อมูลที่มีหลากหลาย ตลอดจนพยายามคิดหาวิถีทางหรือแชร์ไอเดียที่ดีออกมาได้ในหลายรูปแบบ ทำให้เรามองเห็นองค์ประกอบรอบด้านและมีตัวเลือกที่ดีที่สุด ก่อนนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือนำไปปฎิบัติจริง
- มีตัวเลือกที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดเมื่อมีตัวเลือกหลากหลายก็จะทำให้รู้จักคิดวิเคราะห์ และการคิดวิเคราะห์นี้เองจะทำให้สามารถเลือกทางเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุดได้ มีประสิทธิภาพมากกว่า
- ฝึกความคิดสร้างสรรค์ระดมความคิดหรือแชร์ไอเดียจะทำให้สมองได้ฝึกการคิดหลากหลายรูปแบบ หลากหลายวิธีการ หลากหลายมุมมอง และทำให้เรารู้จักหาวิธีแปลก ๆ ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการฝึกความคิดสร้างสรรค์ที่ดีอันเป็นพื้นฐานที่ดีในการแก้ปัญหา ตลอดจนการบริหารจัดการเช่นกัน
- เกิดกระบวนการใหม่ตลอดจนเกิดนวัตกรรมใหม่มีการคิดมากมายหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนแชร์ไอเดียดี ๆ มากมาย การที่เราได้พยายามฝึกคิดจะทำให้เรามักค้นพบวิธีใหม่ ๆ เสมอ หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน
- มีแผนสำรองในการแก้ปัญหาการคิดที่หลากหลายวิธี นอกจากจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์เลือกวิธีที่ดีที่สุดได้แล้วนั้น ก็ยังทำให้เรามีตัวเลือกสำรองไปในตัว โดยผ่านกระบวนการจัดลำดับความสำคัญมาเรียบร้อยแล้ว ทำให้เราสามารถเลือกใช้แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีหากวิธีการที่เลือกไม่ประสบความสำเร็จ
- องค์กรมีการทำงานอย่างเป็นระบบเมื่อบุคลากรถูกฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบแบบแผนแล้วจะปลูกฝังระบบการทำงานที่ดี นั่นย่อมส่งผลให้องค์กรมีการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรและองค์กร
กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process)
นักวิชาการนิยมนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford d.school) มาประกอบการอธิบาย ซึ่งกระบวนการคิดเชิงออกแบบประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ การทำความเข้าใจเข้าใจปัญหา (Empathize) กำหนดปัญหาให้ชัดเจน (Define) ระดมความคิด (Ideate) การสร้าง ต้นแบบ (Prototype) และการทดสอบ (Test)
อ้างอิง Stanford d.school Design Thinking Process (Schmarzo, 2017)
- Empathize – เข้าใจปัญหา ขั้นแรกต้องทำความเข้าใจกับปัญหาให้ถ่องแท้ในทุกมุมมองเสียก่อน ตลอดจนเข้าใจผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย หรือเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการแก้ไขนี้เพื่อหาหนทางที่เหมาะสมและดีที่สุดให้ได้ การเข้าใจคำถามอาจเริ่มตั้งด้วยการตั้งคำถาม สร้างสมมติฐาน กระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ ตลอดจนวิเคราะห์ปัญหาให้ถ้วนถี่ เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนให้ได้ การเข้าใจในปัญหาอย่างลึกซึ้งถูกต้องนั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นและได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม
- Define – กำหนดปัญหาให้ชัดเจน เมื่อเรารู้ถึงข้อมูลปัญหาที่ชัดเจน ตลอดจนวิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว ให้นำเอาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อที่จะคัดกรองให้เป็นปัญหาที่แท้จริง กำหนดหรือบ่งชี้ปัญหาอย่างชัดเจน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการปฎิบัติการต่อไป รวมถึงมีแก่นยึดในการแก้ไขปัญหาอย่างมีทิศทาง
- Ideate – ระดมความคิด การระดมความคิดนี้คือการนำเสนอแนวความคิดตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไม่มีกรอบจำกัด ควรระดมความคิดในหลากหลายมุมมอง หลากหลายวิธีการ ออกมาให้มากที่สุด เพื่อที่จะเป็นฐานข้อมูลในการที่เราจะนำไปประเมินผลเพื่อสรุปเป็นความคิดที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเกิดจากความคิดเดียว หรือเลือกความคิดเดียว แต่เป็นการผสมผสานหลากหลายความคิดให้ออกมาเป็นแนวทางสุดท้ายที่ชัดเจนก็ได้ การระดมความคิดนี้ยังช่วยให้เรามองปัญหาได้อย่างรอบด้านและละเอียดขึ้นด้วย รวมถึงหาวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างรอบคอบได้ด้วยเช่นกัน
- Prototype – การสร้างต้นแบบ หากเป็นเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมขั้น Prototype นี้ก็คือการสร้างต้นแบบเพื่อทดสอบจริงก่อนที่จะนำไปผลิตจริง สำหรับในด้านอื่นๆ ขั้นนี้ก็คือการลงมือปฎิบัติหรือทดลองทำจริงตามแนวทางที่ได้เลือกแล้ว ตลอดจนสร้างต้นแบบของปฎิบัติการที่เราต้องการจะนำไปใช้จริง
- Test – การทดสอบ ทดลองนำต้นแบบหรือข้อสรุปที่จะนำไปใช้จริงมาปฎิบัติก่อน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ ตลอดจนประเมินผล เสร็จแล้วก็นำเอาปัญหาหรือข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำไปใช้จริงอีกครั้งนั่นเอง
หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นได้ว่า สองขั้นตอนแรกคือการทำความเข้าใจปัญหา (Empathize) และกำหนดปัญหาให้ชัดเจน (Define) เป็นขั้นตอนแห่งการสร้างความเข้าใจและตีความปัญหา เพื่อตั้งเป้าหมายของโครงการ ขั้นตอนที่สาม ระดมความคิด (Ideate) คือ ขั้นตอนในการใช้ความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากหลาย ๆ คนในทีมเพื่อสร้างคำตอบหรือทางเลือกวิธีแก้ปัญหาใหม่ ส่วนขั้นตอนที่สี่การสร้างต้นแบบ (Prototype) และขั้นตอนที่ห้า การทดสอบ (Test) คือ ขั้นตอนทดสอบแนวคิดกับตัวแทนกลุ่มเป้าหมายและพัฒนาต้นแบบเพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริงก่อนนำออกไปใช้จริ’
สรุปกิจกรรมในแต่ละกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process)
สรุป
การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) เป็นการประยุกต์วิธีการออกแบบอันเป็นแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาให้ตอบสนองความต้องการ สนับสนุนการทำงาน ช่วยให้การดำเนินชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในสังคมปัจจุบันให้มีประสิทธิคุณภาพมากขึ้น นอกจากการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) จะเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อบุคคลในการทำงานที่จะช่วยส่งเสริมระบบความคิดที่ดีและมีความพร้อมในการหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอ นั่นอาจเป็นวิธีการตอบโจทย์ที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีส่วนสำคัญให้กับประเทศชาติต่อไป
อ้างอิง
มานิตย์ อาษานอก. การบูรณาการกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เพื่อพัฒนานวัตกรรม การจัดการเรียนรู้. วารสาร เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2561
ศศิมา สุขสว่าง. การพัฒนานวัตกรรมโดยใช้ Design Thinking. Retrieved July 9, 2024, from https://www.sasimasuk.com/16875793/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1-design-thinking
กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เครื่องมือสำคัญของการสร้างความสำเร็จให้องค์กร.
Retrieved June 19, 2024, from https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190702-design-thinking/
ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา และชูจิต ตรีรัตนพันธ. DESIGN THINKING: LEARNING BY DOING การคิดเชิงออกแบบ: เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ. ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) : กรุงเทพมหานคร
วริณศิญา พงษ์เกษ. 2564. หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 การคิดเชิงออกแบบ (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://krupicnic.patum.ac.th/ptithin-kar-sxn/hnwy-kar-reiyn-ru-thi-4-kar-khid-cheing-xxkbaeb. 26 มกราคม 2564.
การนำเสนอ Power Point. 2564. แนวทางการสร้าง/พัฒนานวัตกรรมภาครัฐ (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://personnel.labour.go.th/attachments/article/1053/007.pdf. 26 มกราคม 2564.