X

การวัดมูลค่าของหนี้สิน (Measurement of Liabilities)

การวัดมูลค่า หมายถึง การกำหนดจำนวนที่เป็นตัวเงินเพื่อใช้ในการรับรู้เข้าองค์ประกอบในงบฐานะการเงิน และงบกำไรขาดทุน การเลือกใช้เกณฑ์การวัดค่าต่าง ๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างกันในลักษณะที่ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับประเภทของหนี้สินนั้นๆ ดังนี้ (จรรจา ลิ้มปภากุล, 2565)

1. หนี้สินทางการเงิน (Financial Liabilities) หมายถึง ภาระผูกพันตามสัญญาที่กิจการทำกับผู้อื่น ทำให้กิจการจะต้องส่งมอบเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นในอนาคต เช่น เงินรับฝาก ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้และเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง เป็นต้น โดยทั่วไปบริษัทหลักทรัพย์กำหนดให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรมซึ่งมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน กำหนดการวัดมูลค่าหนี้สินทางการเงินไว้ 2 วิธี ดังนี้

1.1 วัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortized Cost) การวัดมูลค่าหนี้สินทางการเงินด้วยราคาทุนตัดจำหน่ายจะวัดมูลค่าเริ่มแรกด้วยมูลค่ายุติธรรมหักตันทุนการทำรายการ (Transaction Costs) และวัดมูลค่าภายหลังด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย และรับรู้ดอกเบี้ยจ่ายใน งบกำไรขาดทุนตามอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR)

1.2 วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (Fair Value through Profit or Loss) การวัดมูลค่าหนี้สินทางการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนจะวัดมูลค่าเริ่มแรกด้วยมูลค่ายุติธรรมสำหรับต้นทุนการทำรายการจะถือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงวดในงบกำไรขาดทุน และการวัดมูลค่าภายหลังด้วยมูลค่ายุติธรรม ผลกำไรหรือขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น (Unrealized Gain or Loss) จากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมจะรับรู้เป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายสำหรับงวดในงบกำไรขาดทุน โดยส่วนใหญ่หนี้สินทางการเงินมักอยู่ในรูปแบบของตราสารหนี้ ได้แก่ หุ้นกู้ ตั๋วเงินจ่ายระยะยาว เงินกู้ยืมระยะยาว

2. หนี้สินอื่นที่ไม่ใช่หนี้สินทางการเงิน (Non – financial Liabilities) อาจวัดมูลค่าได้หลากหลายวิธี ได้แก่

2.1 ราคาทุนในอดีต (Historical Cost) หมายถึง ราคาทุนเดิม ณ วันที่ก่อภาระผูกพัน

2.2 มูลค่าที่จะจ่าย (Realizable Value) หมายถึง จำนวนเงินที่คาดว่าจะต้องจ่ายเพื่อชำระหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ เช่น รายได้รับล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ภาษีค้างจ่าย

2.3 มูลค่าปัจจุบัน (Present Value) หมายถึง มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดจ่ายสุทธิในอนาคตซึ่งคาดว่าจะต้องจ่ายชำระคืนในระยะยาว ถ้ามูลค่าของเงินตามเวลามีผลกระทบต่อจำนวนหนี้สินนั้นอย่างมีนัยสำคัญ ควรแสดงหนี้สินระยะยาวนั้นในงบแสดงฐานะการเงินด้วยมูลค่าปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของหนี้สินในขณะนั้น

ผศ.ดร.กัลยา ตันมณี: