ความสำคัญของวิชาชีพบัญชี

การตัดสินใจลงทุนในบริษัท หรือ การตัดสินใจให้กู้แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น ผู้ลงทุนและผู้ให้กู้ย่อมอาศัยข้อมูลงบการเงินของบริษัทนั้น ๆ ที่แสดงถึงผลการดำเนินงานและฐานการเงินของบริษัทประกอบการตัดสินใจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องถูกจัดทำขึ้นภายใต้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน จึงจะมีความน่าเชื่อถือ และบุคคลสำคัญที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูล สรุป และนำเสนอออกมาในรูปของงบการเงินนั้นคือ “ผู้ทำบัญชี” (Accountant) ดังนั้น วิชาชีพผู้ทำบัญชีจึงเป็นวิชาชีพควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 เพราะหากจัดทำหรือนำเสนอข้อมูลทางบัญชีที่ไม่ถูกต้องจะกระทบต่อบุคคลอื่นในวงกว้าง และเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ข้อมูลทางบัญชี ว่าได้จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามควรในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงต้องมีการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้เชี่ยวชาญในวงการวิชาชีพบัญชีนั่นคือ “ผู้สอบบัญชี”

วิชาชีพบัญชี
“ผู้สอบบัญชี” เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพบัญชีที่ พ.ร.บ. วิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ให้การควบคุมไว้ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้พึงประกอบวิชาชีพด้วยความระมัดระวังรอบคอบ โดย ผู้สอบบัญชีในวงการวิชาชีพที่เป็นที่รู้จัก และหลายคนใฝ่ฝันอยากประกอบวิชาชีพนี้ คือ “ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต” (Certified Public Accountant) หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ “CPA” จะสามารถตรวจสอบและรับรองงบการเงินในทุกขนาดกิจการ และด้วยปริมาณนิติบุคคลในประเทศไทยมีจำนวนมาก จึงเกิดวิชาชีพบัญชีในสายตรวจสอบขึ้นมาอีกหนึ่งวิชาชีพ คือ “ผู้สอบบัญชีภาษีอากร” (Tax Auditor) โดยขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งมีสิทธิในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และ รายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท

วิชาชีพบัญชีอีกสองวิชาชีพที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ข้อมูลทางบัญชีมีความถูกต้องน่าเชื่อถือก่อนส่งข้อมูลดังกล่าวให้ผู้สอบบัญชีภายนอกทำการตรวจสอบคือ “วิชาชีพวางระบบบัญชี” (Accounting Systematisation Professional) มีหน้าที่ กำหนดนโยบายทางบัญชีและวิธีปฏิบัติทางการบัญชีให้สอดคล้องกับกิจกรรมการปฏิบัติงานของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการบันทึกบัญชี ทั้งภายในและภายนอกกิจการ โดยมีวิชาชีพบัญชีอีกแขนงหนึ่ง คือ “ผู้ตรวจสอบภายใน” (Internal Auditors) ทำหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์และประเมินระบบงานและการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ภายในกิจการให้เป็นไปตามกฎระเบียบและแนวทางที่กิจการได้วางไว้พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขก่อนข้อมูลทางการเงินเหล่านั้นจะถูกส่งให้ผู้ตรวจสอบภายนอกทำการตรวจสอบอีกครั้ง

จะเห็นได้ว่าวิชาชีพบัญชีที่กล่าวข้างต้นเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง องค์กรขนาดใหญ่ที่มีความยั่งยืนได้เนื่องจากมีระบบบัญชีที่เข้มแข็ง หน่วยงานบัญชีในองค์กรจึงเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวิชาชีพบัญชี วิชาชีพบัญชีจึงมีจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นกรอบในการประพฤติตนอย่างมืออาชีพสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และด้วยในปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามยุคสมัย ศาสตร์ด้านบัญชีจึงมีการพัฒนาให้เท่าทันกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน บุคลากรที่จะมาเดินบนถนนสายนี้จึงไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เพราะวิชาชีพของเราจะต้องให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ผู้ถือหุ้น ผู้ให้กู้ ผู้บริหาร รัฐบาล และสาธารณชนเพื่อนำไปใช้ต่อการตัดสินใจในอนาคต