การพัฒนาโซ่อุปทานสำหรับ SMEs โดยใช้ SCOR Model

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่รู้จักกันในชื่อของ SMEs เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนธุรกิจของไทยที่มีความสำคัญในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากฐานรากหรือประชาชนคนทั่วไปที่ประกอบธุรกิจ คือ เครื่องจักรและฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า SMEs จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้สภาพทางการแข่งขัน และความต้องการของลูกค้าที่มีความผันแปรตลอดเวลา ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีเครื่องมือในการดำเนินงานด้านต่างๆ ของโลกได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ยุค Digital อย่างเต็มรูปแบบ

หลาย SMEs ไทยเริ่มซึมซับถึงความจำเป็นที่ต้องบริหาร และควบคุมกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันตลอดโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ทั้งผู้ส่งมอบ ผู้ผลิต และลูกค้า โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างประสิทธิภาพและความสมดุลร่วมกัน (Optimization) ตลอดโซ่อุปทาน

Scor Model

ตัวแบบสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาการจัดการโซ่อุปทานที่สากลนิยมนำมาประยุกต์ใช้ และ SMEs ไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ก็คือ SCOR Model ซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนสร้างความเป็นเลิศอย่างเป็นระบบ ทั้ง 6 กระบวนหลักภายในโซ่อุปทาน คือ Plan Source Make Deliver Return และ Enable โดยมีเป้าหมายให้เกิดประสิทธิผล 5 ด้าน คือ Reliability, Responsiveness, Agility, Cost และ Asset Management Efficiency ทำให้การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีความสำคัญและยังต้องพัฒนาให้เป็นเลิศ ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถเรียนรู้โมเดลต่างๆได้ อาทิ ตัวแบบ SCOR (Supply Chain Operations Reference Model) ที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 และได้รับการยอมรับโดยสภาซัพพลายเชน (Supply-Chain Council) ให้เป็นโมเดลที่ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล มีองค์ประกอบสำคัญ 6 ส่วนคือ การวางแผน (Plan) การจัดหาวัตถุดิบ (Source) การผลิต (Make) การส่งมอบ (Deliver) การส่งคืน (Return) และการสนับสนุนแผนงานและการดำเนินงาน (Enable) โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ต้นทุน (cost) การส่งมอบ (delivery) ความน่าเชื่อถือ (reliability) และความยืดหยุ่น (flexibility) ดังภาพที่ 2

การจัดการโซ่อุปทาน

ส่วนแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการจัดการโซ่อุปทานอย่างไรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ SMEs นั้นได้กำหนดกรอบแนวคิดและวิธีการโดยใช้วิธีคิดตามแบบ SCOR Model มาเป็นแนวทางไว้ดังภาพที่ 2 โดยสามารถแบ่งขั้นตอนออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ
1. การวิเคราะห์และจัดทำกลยุทธ์ คือ การดำเนินการวิเคราะห์และกำหนดว่ากลยุทธ์ใดสำคัญ โดยจะพิจารณาจากเป้าหมาย 5 ด้านหลัก โดยกลยุทธ์ 3 ด้านแรกมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อลูกค้า คือ Reliability, Responsiveness และ Agility ส่วนกลยุทธ์ที่ 4 และ 5 เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นด้านประสิทธิภาพการดำเนินการขององค์กร
2. การคัดเลือกผลิตภัณฑ์และศึกษาทำความเข้าใจโครงสร้างโซ่อุปทาน คือ การศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงกระบวนการ ผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโซ่อุปทานของสินค้า ที่ได้รับการคัดเลือกมาพัฒนาโซ่อุปทาน โดยจะมีกิจกรรมสำคัญๆ 4 อย่างคือ 1) การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ 2) การจัดทำโครงสร้าง Chain 3) การจัดทำแผนภาพทางภูมิศาสตร์4) การจัดทำรูปแบบความเชื่อมโยงของแต่ละกระบวนการภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่ได้คัดเลือก
3. การวิเคราะห์และประเมินผลกระบวนการ/ขั้นตอนการทำงาน คือ การประยุกต์แนวคิดตัวแบบ SCOR ผ่านกลไกการบริหารจัดการ 4P (Performance Process Practice People) โดยการวิเคราะห์ประสิทธิผลจะนำเป้าหมาย 5 ด้าน (Reliability, Responsiveness, Agility, Cost และ Asset Management Efficiency) และกระบวนการ 6 อย่าง (Plan Source Make Deliver Return และ Enable) มาทำการวิเคราะห์ปัญหาและโอกาสพัฒนาปรับปรุงภายใต้โซ่อุปทานของ Product นั้นๆ
4. การดำเนินการพัฒนาปรับปรุง คือ การนำประเด็นการพัฒนาปรับปรุงที่ได้วิเคราะห์ มากำหนดมาตรการ โดยใช้หลักการปฏิบัติ (Practice) มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร (People) เพื่อให้มีศักยภาพในการใช้หลักปฏิบัติ และพัฒนาวิธีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบของการปรับปรุงสามารถดำเนินการได้ 4 ลักษณะ คือ # การปรับปรุงเฉพาะตัวองค์กร (Company) # การปรับปรุงร่วมกันกับผู้ส่งมอบ (Supplier) # การปรับปรุงร่วมกันกับลูกค้า (Customer) # การปรับปรุงร่วมกันกันทั้งโซ่อุปทาน (Supply Chain)

จากที่ได้กล่าวมานี้ เป็นกรอบความคิดของการพัฒนาโซ่อุปทานสำหรับ SMEs โดยใช้ SCOR Model ขั้นตอน อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการเน้นให้เห็น คือ “ขั้นตอนทั้ง 4 ระดับ ใน SCOR Model ควรจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง” เมื่อทำการปฏิบัติแล้ว ควรมีการวัดผลการปฏิบัติงาน โดยนำผลตรวจวัดที่ได้มาวิเคราะห์ปัญหา หาจุดที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติมและนำผลที่ได้ไปปรับปรุงอีกครั้ง ด้วยการทบทวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในการปฏิบัติงานของโซ่อุปทาน ส่วนรายละเอียดการจัดการในส่วนต่างๆ เช่น การจัดซื้อ, การผลิต, การจัดการสินค้าคงคลัง ฯลฯ จะเป็นแนวทางนำไปปรับประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อให้ผลการปฏิบัติงานของ โซ่อุปทาน สามารถบรรลุผลตามที่ได้กำหนดไว้